suree-weeken: "กฎอัยการศึก" คืออะไร

19 กันยายน 2549

"กฎอัยการศึก" คืออะไร

เมื่อคืนตอนโทรเช็คข่าวกับกระติ๊บว่ามันเกิดอะไรขึ้น เข้าเว็บผู้จัดการดูความเคลื่อนไหว ทำให้เกิดขอสงสัยว่า "กฎอัยการศึก" คืออะไร ใช้อย่างไร จึงได้จึงได้ค้นข้อมูลจากหนังสือพิมพ์คมชัดลึก ได้ความว่า

ภายหลังคณะปฏิรูปการปกครองฯ นำโดยผู้นำเหล่าทัพ พร้อมผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้ปฏิวัติยึดอำนาจรัฐบาล ภายใต้การนำของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร รักษาการนายกรัฐมนตรี เมื่อกลางดึกวันที่ 19 กันยายน 2549 ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความความสงบความเรียบร้อยต่อบ้านเมืองและประชาชน คณะปฏิรูปการปกครองจึงประกาศ พ.ร.บ.กฎอัยการศึก ออกมาใช้ในช่วงเวลาดังกล่าว ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความเข้าใจในตัวบทกฎหมายของ พ.ร.บ.กฎอัยการศึก ว่ามีที่มาที่ไปและอำนาจขอบเขตในการใช้อย่างใด "คม ชัด ลึก" จึงได้คัดข้อความในบางมาตราที่สำคัญของ "พ.ร.บ.กฎอัยการศึก" เกี่ยวกับประวัติความเป็นมา ขอบเขตผู้มีอำนาจการใช้ และอำนาจของทหารในการบังคับใช้ พ.ร.บ.ดังกล่าว ดังนี้ กฎอัยการศึก เป็นกฎหมายซึ่งได้ตราขึ้นไว้สำหรับประกาศใช้เมื่อมีเหตุจำเป็นเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยในบ้านเมือง เช่น ในกรณีเกิดสงคราม การจลาจล ในเขตที่ประกาศใช้กฎอัยการศึก เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารมีอำนาจหน้าที่เหนือเจ้าหน้าที่ฝ่ายพลเรือนในส่วนที่เกี่ยวกับการยุทธ์ การระงับปราบปราม หรือการรักษาความสงบเรียบร้อย และศาลทหารมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีอาญาบางอย่างที่ประกาศระบุไว้แทนศาลพลเรือน ส่วนความเป็นมาของ พ.ร.บ.กฎอัยการศึกนั้น ประเทศไทยได้ตรากฎหมาย กฎอัยการศึกเป็นลายลักษณ์อักษรครั้งแรก ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว คือ "กฎอัยการศึก ร.ศ.126" ตรงกับ พ.ศ.2450 ซึ่ง พ.ร.บ.กฎอัยการศึก ร.ศ.126 นี้ มีเพียง 8 มาตรา และใช้อยู่เพียง 7 ปี ก็ถูกยกเลิกโดย "พ.ร.บ.กฎอัยการศึก พ.ศ.2457" ทั้งนี้ ก็เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์และสภาพแวดล้อมที่เป็นอยู่ในขณะนั้น ปัจจุบัน พ.ร.บ.กฎอัยการศึก พ.ศ.2457 ได้ประกาศใช้จนถึงวันนี้ เป็นเวลามากกว่า 91 ปี ซึ่งมีรายละเอียดของ พ.ร.บ.กฎอัยการศึกฯ รวม 17 มาตรา โดยวัตถุประสงค์ของการออก พ.ร.บ.กฎอัยการศึกนั้น มาตรา 2 ระบุว่า เมื่อเวลามีเหตุอันจำเป็นเพื่อรักษาความเรียบร้อย ปราศจากภัย ซึ่งจะมีมาจากภายนอก หรือภายในราชอาณาจักรแล้ว จะได้มีประกาศพระบรมราชโองการให้ใช้กฎอัยการศึกทุกมาตรา หรือแต่บางมาตรา หรือข้อความส่วนใดส่วนหนึ่งของมาตรา ตลอดจนการกำหนดเงื่อนไขแห่งการใช้บทบัญญัตินั้นบังคับในส่วนหนึ่งส่วนใดของราชอาณาจักร หรือตลอดทั่วราชอาณาจักร และ ถ้าได้ประกาศใช้เมื่อใด หรือ ณ ที่ใดแล้ว บรรดาข้อความในพระราชบัญญัติ หรือบทกฎหมายใดๆ ซึ่งขัดกับความของกฎอัยการศึกที่ให้ใช้บังคับต้องระงับ และใช้บทบัญญัติของกฎอัยการศึกที่ให้ใช้บังคับนั้นแทน ส่วนขอบเขตผู้มีอำนาจใช้กฎอัยการศึก มาตรา 4 ได้ระบุว่า เมื่อมีสงคราม หรือจลาจลขึ้น ณ แห่งใด ให้ผู้บังคับบัญชาทหาร ณ ที่นั้น ซึ่งมีกำลังอยู่ใต้บังคับไม่น้อยกว่า 1 กองพัน หรือเป็นผู้บังคับบัญชาในป้อม หรือที่มั่นอย่างใดๆ ของทหารมีอำนาจประกาศใช้กฎอัยการศึก เฉพาะในเขตอำนาจหน้าที่ของกองทหารนั้นได้ แต่จะต้องรีบรายงานให้รัฐบาลทราบโดยเร็วที่สุด สำหรับอำนาจทหารเมื่อประกาศใช้กฎอัยการศึก มาตรา 6 ได้ระบุถึงรายละเอียดไว้อย่างชัดเจนว่า ในเขตที่ประกาศใช้กฎอัยการศึก ให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารมีอำนาจเหนือเจ้าหน้าที่ฝ่ายพลเรือน ในส่วนที่เกี่ยวกับการยุทธ์ การระงับปราบปราม หรือการรักษาความสงบเรียบร้อย และเจ้าหน้าที่ฝ่ายพลเรือนต้องปฏิบัติ ตามความต้องการของเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหาร นอกจากนี้ ใน พ.ร.บ.กฎอัยการศึก มาตรา 8 ยังให้อำนาจเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารอย่างเต็มที่ โดยระบุว่า เมื่อประกาศใช้กฎอัยการศึกในตำบลใด เมืองใด มณฑลใด เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารมีอำนาจเต็มที่จะตรวจค้น ที่จะเกณฑ์ ที่จะห้าม ที่จะยึด ที่จะเข้าอาศัย ที่จะทำลาย หรือเปลี่ยนแปลงสถานที่ และที่จะขับไล่ ด้านการตรวจค้น พ.ร.บ.กฎอัยการศึกตามมาตรา 9 ให้อำนาจที่จะตรวจค้น ดังต่อไปนี้ 1.ที่จะตรวจค้นบรรดาสิ่งซึ่งจะเกณฑ์ หรือต้องห้าม หรือต้องยึด หรือจะต้องเข้าอาศัย หรือมีไว้ในครอบครองโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทั้งมีอำนาจ ที่จะตรวจค้นได้ไม่ว่าที่ตัวบุคคล ในยานพาหนะ เคหสถาน สิ่งปลูกสร้าง หรือที่ใดๆ และไม่ว่าเวลาใดๆ ทั้งสิ้น 2.ที่จะตรวจข่าวสาร จดหมาย โทรเลข หีบ ห่อ หรือสิ่งอื่นใดที่ส่ง หรือมีไปมาถึงกันในเขตที่ประกาศใช้กฎอัยการศึก 3. ที่จะตรวจหนังสือ สิ่งพิมพ์ หนังสือพิมพ์ ภาพโฆษณา บท หรือคำประพันธ์ และ 3.อำนาจที่จะตรวจหนังสือ สิ่งพิมพ์ หนังสือพิมพ์ ภาพโฆษณา บทหรือคำประพันธ์ ทั้งนี้ ในส่วนของ อำนาจการกักตัวบุคคลที่ต้องสงสัยเป็นราชศัตรูนั้น มาตรา 15 ทวิ ในกรณีที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารมีเหตุอันควรสงสัยว่า บุคคลใดจะเป็นราชศัตรู หรือได้ฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติของ พ.ร.บ.นี้ หรือต่อคำสั่งของเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหาร ให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารมีอำนาจกักตัวบุคคลนั้นไว้ เพื่อการสอบถาม หรือตามความจำเป็นของทางราชการทหารได้ แต่ต้องกักไว้ ไม่เกินกว่า 7 วัน อย่างไรก็ตาม เมื่อต้องการประกาศเลิกใช้กฎอัยการศึกนั้น ตาม พ.ร.บ.กำหนดไว้อย่างชัดเจนว่า การที่จะเลิกใช้กฎอัยการศึกแห่งใดนั้น จะเป็นไปได้ต่อมี ประกาศกระแสพระบรมราชโองการเสมอ

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

สมัครสมาชิก ส่งความคิดเห็น [Atom]

<< หน้าแรก